เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองทุ่งคำ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งจังหวัดที่ 218/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟืนฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จังหวัดเลย ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ โดยนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงมารับหนังสือกับชาวบ้านด้วยตนเอง
จากกรณีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อการจัดการแก้ไขปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564 หลังจากมีหนังสือแต่งตั้งออกมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการแต่งตั้ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวทันที โดยอ้างขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และแตกต่าง จากคำสั่งของนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยคนก่อน ที่ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายใน และบริเวณโดยรอบเหมือง ที่มีสัดส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดก่อนอย่างชัดเจน
โดยน.ส.รจนา กองแสน แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 ได้ยื่นหนังสือเรื่องการขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำ โดยหนังสือบางส่วนระบุว่า การมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวได้สร้างความสงสัย และเคลือบแคลงใจให้กับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นอย่างมากว่า เหตุใดจึงต้องมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่แทน การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยคนเก่าได้มีการแต่งตั้งไว้ที่มีคณะทำงานทั้งหมด 14 คน มีสัดส่วนของชาวบ้าน 3 คน นักวิชาการที่มีความรู้ด้านการฟื้นฟูเหมือง 6 คน และเป็นข้าราชการ 5 คน โดยแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำมากกว่า และการแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่นี้ยังมีลักษณะอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันกับคณะทำงานชุดเดิม
ด้านนายชัยธวัช เนียมศิริ กล่าวว่า ในกรณีของการฟื้นฟูความชัดเจนมีอยู่แล้วว่าจังหวัดเรา จะเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและกพร. ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องฟื้นฟู ดังนั้นเมื่อหลักการชัดเจนทั้ง2ส่วน ก็ได้มีการมาปรึกษากัน และต้องขออภัยต่อชาวบ้านที่คำสั่งทางปกครองที่มีออกไปแล้ว มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจ ดังนั้นอะไรที่ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจตนก็ยกเลิกหนังสือดั่งกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา และคณะ อยากให้เข้าใจจริงๆว่าสิ่งที่ตนต้องการจะทำนั้นคือเฉพาะเรื่องของการพัฒนาอาชีพรายได้ของตำบลเขาหลวง ที่มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ซึ่งมี 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง และคำสั่งของเดิมของผู้ว่าชัยวัฒน์ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม