ข่าวบ้านเมือง

เลยเปิดโมเดลนำร่องแก้ปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกิน พบช้างป่าเลยมีมากถึง 304 ตัว

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีสองรัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเลย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นางสาวกัญจนา  ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช  นายกานตพันธุ์  พิศาลสุขสกุล  ผู้อำนวยการกองการบิน สป.ทส  นายฐิติพันธ์  จูจันทร์โชติ  หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี คณะทำงานและผู้ช่วยเลาขานุการ

ร่วมประชุมกับนายชัยธวัช  เนียมศิริ  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  นายณรงค์  จีนอ่ำ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้ประสานงาน อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าภูหลวง หน่วยพิทักษ์ช้างป่า เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบช้างป่าเข้าบุกรุกที่ทำกิน สร้างความหวาดกลัว และเข้าทำลายพืชไร่พืชสวน พื้นที่การเกษตร บ้านเรือน ยุ้งข้าวของประชาชน

ในที่ประชุม ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีอ.ภูกระดึง อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย อ.ภูหลวง อ.ท่าลี่  อ.วังสะพุง และ อำเภอหนองหิน และจากการรับรายงานพบว่า ปัจจุบันจำนวนช้างป่าได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีมากถึง 186 ตัว ส่วนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีจำนวน 65 ตัว  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขาภูกระแต มีจำนวน 53 ตัว รวมทั้งสิ้น  304  ตัว  ซึ่งช้างป่ายังมีการเดินทางเคลื่อนตัวเชื่อมโยงระหว่างระยะทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อภูกระแต อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตลอดจนอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

ผลการประชุมยังได้ให้จังหวัดเลยประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว ให้จัดทำแผนรับมือกับช้างป่าเมื่อช้างป่าเข้ามาในชุมชน ตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังช้างป่าให้เป็นรูปธรรมในระดับจังหวัด และให้จังหวัดเลยเป็นจังหวัดนำร่องอย่างเป็นรูปธรรม หรือโมเดลอนุรักษ์ช้างป่าขึ้น   รวมทั้งให้สร้างองค์ความรู้แก่ชุมชนเมื่อช้างออกมายังชุมชน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ควรมีการประกันภัยจากช้างเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต  แก้ไข พ.ร.บ.เยียวยาและสร้างหอคอยเฝ้าระวังช้าง 

ด้านนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา เปิดเผยว่า จากที่ตนและคณะ  ได้ลงพื้นที่จริงที่บ้านพองหนีบ อำเภอภูกระดึง รวมทั้งรับทราบปัญหาจากประชาชนในพื้นที่แล้ว  จากข้อเสนอได้ครอบคลุมความต้องการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเลยจะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการวบรวมและนำข้อเสนอต่อไป  ส่วนทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ก็จะรับภาระว่าตรงไหน เรื่องใดที่สามารถแก้ไขได้ก็แก้ไขปัญหาเลย  ส่วนการขับไล่ หรือผลักดันช้างป่าออกจากหมู่บ้าน จากพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินของประชาชนนั้น  จากอดีตเคยใช้ความรุนแรงเสียงดังต่าง ๆ ยังไม่ได้ผล ทำให้ช้างโกธร  ต้องส่งเสริมการปลูกพืชไม้ดึงดูดช้าง  และสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรและการตลาดให้แก่ประชาชน  ภาครัฐต้องสนับสนุนด้านเครือข่ายกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า ทั้งประเทศ กรมอุทยานฯ ได้เสนอไปยังสำนักงบประมาณขอรับการสนับสนุนลงในงบปี 2566 เครือข่ายละ 50,000  บาท  น่าจะได้ตามยื่นขอไป และต้องสร้างองค์ความแก่ครู นักเรียน ขยายผลไปยังครอบครัว ก็ดำเนินการได้เลย  ทางจังหวัดจะทำเรื่องค่าชดเชยการเสียหาย ด้านของกรมอุทยานฯ ก็สามารถใช้เงินของอุทยานฯ มาชดเชยได้  ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์  จึงใช้งบประมาณทั้งจากกรมอุทยานฯ และจากจังหวัดเลย  ทั้งนี้ภายใต้  อยู่อย่างไรจึงจะไม่มีปัญหาระหว่างคนกับช้าง นส.กัญจนา กล่าว

แสดงความคิดเห็น - Facebook