ข่าวทั่วไป

อพท.5 ปัดฝุ่น เพิ่มงบอีก 7.9 ล้าน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สร้างกระเช้าภูขึ้นกระดึง แทบไร้เงาคนต้าน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 65 โรงแรมเลยพาเลซ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทบทวนความเหมาะสม ด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย

โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมกับ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.และนายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5)  เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลของโครงการ ในการดำเนินการจัดสัมมนามีผู้ร่วมสัมมนากว่า 300 คน แทบไร้คนต้าน การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงในครั้งนี้

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ อพท. เห็นถึงความสำคัญของโครงการ และความต้องการของจังหวัดเลย จึงจัดงบประมาณสนับสนุน จำนวน 7.9 ล้านบาท เพื่อในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการศึกษาทบทวนความเหมาะสม ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ รูปแบบโครงการ พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการของรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงในสภาพปัจจุบัน

ทั้งนี้ อพท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ให้มีน้อยที่สุด กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางขนส่งนักท่องเที่ยว แต่ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ลูกหาบในการขนสัมภาระผ่านระบบกระเช้าแทนการแบกสัมภาระตามทางเดิน รวมทั้งเปิดโอกาสการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มผุ้สูงอายุ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดในการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่าโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เกิดขึ้นจากแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้มีการศึกษามาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2527-2541และโดย อพท. เมื่อปี พ.ศ.2557 เป็นโครงการหนึ่งที่เป็นที่สนใจและชาวจังหวัดเลย เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง การศึกษาโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงในครั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงการที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพัฒนาโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายวันชัย พลซา เผยว่า การสร้างกระเช้าภูกระดึงสมควรที่สร้างมั้ย ตนเห็นว่ายังไม่ควรที่จะสร้าง เพราะว่าในจังหวัดเลย ทั้งระบบขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการเรื่องขยะ รวมทั้งเรื่องการศึกษาสิ่งแวดล้อมยังไม่มีความชัดเจน ตนยังมองว่ายังไม่ควรที่จะสร้าง

แสดงความคิดเห็น - Facebook