ข่าวบ้านเมือง

ภูกระดึงลุ้น “มรดกแห่งอาเซียน” คุณสมบัติพร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และ ครม.มีมติเห็นชอบให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน  โดยพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติ และตรงตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน

ในเรื่องดังกล่าวนี้ นายอดิศร เหมทานนท์  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้เผยว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และมีสังคมพืชที่หลากหลาย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ประกอบด้วยชั้นลุ่มน้ำที่ 1A คิดเป็นร้อยละ 71.62  และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น  แม่น้ำพอง  รวมทั้งพื้นป่าภูกระดึงยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก อย่าง หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง และอีกพืชพันธุ์อื่นๆที่หายากอีกหลายชนิด รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว และสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ช้างป่า

โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติ ที่มีทั้งป่าเปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าศึกษาธรรมชาติ และเขตสงวนสภาพธรรมชาติ เป็นป่าปิด  ซึ่งไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นบริเวณป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ และมีความเปราะบาง อาจเกิดผลกระทบได้ง่าย หากมีการใช้พื้นที่โดยไม่มีการควบคุม พื้นที่นี้จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด  และเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ และยังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ในเขตอุทยานฯยังเป็นพื้นที่ ที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตาที่จัดขึ้นในวันที่ 18-19 เมษายน ของทุกปี

ในส่วนความสำคัญ และผลดีหากได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน สำหรับตนมองว่า จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้มากขึ้น ให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนในทุกภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตนมีมุมมองอยู่ 3 มติ โดยมติแรก ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้ง สัตว์ป่า พืชพันธุ์ ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ในเชิงคุณภาพ รวมทั้งการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้น และเป็นมาตรฐานสากล

ส่วนในมติที่ 2 เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน เมื่อการประกาศเป็นมรดกอาเซียนของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเกิดขึ้น ก็จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชนโดยรอบ ทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น สู่สายตาประชาคมโลก และเกิดการบริหารจัดการพื้นที่โดยให้มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ลดความขัดแย้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนตลอดไปในอนาคต

ส่วนในมติที่ 3 ด้านการศึกษา อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า พืชและสัตว์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ที่สำคัญระดับภูมิภาคอาเซียน ที่มีเฉพาะถิ่นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยจะต้องมีการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆกัน ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ควรเน้นแต่การดูแลรักษาทรัพยากรอย่างเดียว แต่ควรจะเน้นงานพัฒนาศักยภาพของชุมชน และองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยรู้จักการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ให้เกิดความยั่งยืน ให้เหมาะสมกับการเป็นมรดกแห่งอาเซียนตลอดไป

แสดงความคิดเห็น - Facebook