ข่าวทั่วไป

เต็มคาราเบล ทั้ง นทท.ชาวบ้าน 15 หมู่บ้าน ร่วมขบวนแห่ผีขนน้ำ หน้ากากรูปวัวควายหลังคลายโควิด19

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ได้มีการจัดงานประเพณี “ผีขนน้ำ” บุญเดือนหก เป็นความเชื่อกันว่า เมื่อมีการละเล่นผีขนน้ำทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล รวมทั้งเพื่อเซ่นไหว้สัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์ วัว ควาย ที่ล้มหายตายจากไป ชาวบ้านจึงทำหน้ากากเขียนเป็นหน้าวัว รูปควาย แห่รอบหมู่บ้าน เป็นประเพณีปฏิบัติร่วมกันมากว่า 300 ปี โดยมีนายศิริวัฒน์ พินิจพานิชน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการเปิดงาน มีนายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน นายอวิรุจน์ ศรีพันธ์ นายก อบต.นาซ่าว นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สำนักงานเลย พร้อมส่วนราชการ ชาวบ้าน 15 หมู่บ้าน นักท่องจำนวนมาก ร่วมขบวนแห่ อย่างสนุกสนาน หลังจากคลายโควิด 19

นายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน เผยว่า ประเพณีผีขนน้ำหรือบุญเดือนหก ของชาวบ้านนาซ่าว ซึ่งเป็นการละเล่นตามความเชื่อคนโบราณ เชื่อกันว่าเมื่อมีการละเล่นผีขนน้ำ จะทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล รวมทั้งเพื่อเซ่นไหว้สัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์ เช่น วัว ควาย ที่ล้มหายตายจากไป โดยมีการจัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม การละเล่นผีขนน้ำของตำบลนาซ่าว แสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปี ที่ถือเอาวันแรม 13 ค่ำ เดือนหก เป็นวันกำหนดการจัดงาน

จากเดิมชาวบ้านนาซ่าว เป็นคนไทยพวน อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรม นำความเชื่อของประเพณีท้องถิ่นคือการนับถือผี โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ “เจ้าปู่” ที่พำนักในศาลเจ้าปู่นาซ่าว บริเวณปากทางหมู่บ้าน ในพิธีกรรมจะมีการเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ซึ่งก็คือชาวบ้านที่แต่งกายเป็นวิญญาณของวัวควาย ที่คอยติดตามผู้คนไปตักน้ำหาฟืน ในขณะที่เดินผ่านห้วยหนองคลองบึง พิธีนี้อีกนัยหนึ่งก็คือการรำลึกถึงบุญคุณวัวควายที่เป็นแรงงานช่วยทำนา

การละเล่นแห่ขบวนผีขนน้ำ จะเดินตามเป็นขบวนในภายในหมู่บ้าน ผีขนน้ำจะแต่งกายจากวัสดุที่ทำจากกิ่งไม้ไผ่ นำมาดัดให้โค้ง แล้วติดด้วยกระดาษสีต่างๆ เพื่อความสวยงาม หลังจากนั้นจึงนำมาเย็บติดกับผ้า เพิ่มความสวยงามชุดไว้สวมใส่ก่อนที่จะสวมหน้ากาก แขวนผางลาง หรือกระดิ่ง ที่สำหรับแขวนคอวัวควาย ให้เวลาเดินหรือเต้น จะส่งเสียงให้ได้ยินแต่ไกล โดยชาวบ้านที่ร่วมขบวนพร้อมใจกันสวมหน้ากาก ตกแต่งเป็นรูปหน้าวัว ควาย วาดลวดลายสีสันฉูดฉาดอย่างสวยงาม เพื่อบูชาคุณสัตว์ทั้ง 2 ที่ช่วยงานเกษตร นอกจากนี้ยังนำเอาผ้าจากที่นอนเก่า ๆ มาห่มร่าง เพื่อให้นุ่นที่ติดอยู่ฟุ้งกระจาย เสมือนเป็นขน จึงเรียกว่า “ผีขน”

แสดงความคิดเห็น - Facebook