ข่าวทั่วไป

นายอำเภอเมืองเลยผุดไอเดีย พลิกฟื้นผืนน้ำ ทำฝายชะลอน้ำด้วยใบอ้อยอัดแท่งกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพยุง  เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชน จิตอาสา ทหารได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำจากวัสดุใบอ้อยอัดแท่ง เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง แก้ไขปัญหาภัยแล้ง กั้นลำน้ำเลย บริเวณ บ้านท่ามะนาว หมู่ที่ 4 ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย

นายพยุง  เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย เผยว่า ทุกปีในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ลดลง ทำให้ราษฎรที่ทำการเกษตรได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งทางอำเภอเมืองเลย ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง จึงได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ในกรณีขาดแคลนน้ำในการบริโภค จึงได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายและเติมในถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง และจัดทำฝายลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร

และในปีนี้ เนื่องจากจังหวัดเลยมีการปลูกอ้อยจำนวนมาก และมีปัญหาเกษตรกรมีการไร่เผาอ้อย เผาใบอ้อยสด ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ หิมะดำเต็มเมือง ตนจึงคิดลองเอาใบอ้อยที่มีจำนวนมากมาลองทำฝายชะลอน้ำ จึงได้ร่วมกับโรงงานน้ำตาล ได้จัดซื้อวัสดุทางการเกษตรใบอ้อยสดนำไปอัดแท่ง  เพื่อนำไปทำฝายชะลอน้ำ โดยจะช่วยแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และยังสามารถทำฝายชะลอน้ำ สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในการนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร

และจากการทดลองทำเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ร่วมกับเทศบาลตำบลนาดินดำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ตำบลนาดินดำ ทำกิจกรรมจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำจากวัสดุใบอ้อยอัดแท่ง ณ ลำห้วยขี้เบ้า บ้านเจริญสุข หมู่ที่ 8 ตำบลนาดินดำ อำเภอเมืองเลย จำนวน 2 ฝาย ระยะห่างกัน ประมาณ 600 เมตร ผลปรากฏว่า ใช้ได้ดีพอๆกับถุงทราย และพบว่าหลังจากทำมาตลอด 1 เดือนกว่า พบว่าฝายได้ชะลอน้ำได้เป็นอย่างดี  และจะคงทนผ่านฤดูแล้งไปได้ โดยการทำฝายจะใช้ไม้ไผ่ทำเป็นรั้วทั้ง 2 ข้างกั้นลำน้ำ และทำเป็นช่องตรงกลางไว้สำหรับเอาใบอ้อยอัดแท่งอัดจนแน่น เพื่อชะลอน้ำ

และยังพบอีกว่า ใบอ้อยเมื่ออยู่ในน้ำกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของ กุ้ง ปลาตัวเล็ก แถมทำให้เกิดแพลงก์ตอน เป็นอาหารของสัตว์น้ำ ในช่วงฤดูแล้งจะมี มีนาคม เมษายน พอถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ก็มีฝนตกลงมา ฝายชะลอน้ำเมื่อถูกน้ำพัด ก็จะเอาก้อนใบอ้อยไปด้วย และคาดว่าก้อนใบอ้อยเหล่านี้กลายเป็นที่อยู่ของปลา ของสัตว์น้ำ และเน่าเปื่อยก็กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำต่อไป ส่วนวันนี้ได้ทำอีกฝายกั้นน้ำลำน้ำเลย เพิ่มขึ้นอีกฝายหนึ่ง ซึ่งเป็นการชะลอน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้ทั้งการเกษตร และเลี้ยงปลากระชังตามริมลำน้ำเลย ให้ผ่านฤดูแล้งไปได้ นายพยุง นายอำเภอเมืองเลย กล่าว

แสดงความคิดเห็น - Facebook